• phone

    Call Center

    091-3853234

  • email

    E-mail

    socials

ระเบียบข้อบังคับ

 

 

ข้อบังคับ

ของ

ชมรมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตจังหวัดพิษณุโลก

...............................

หมวดที่ 1

ความรู้ทั่วไป

 

ข้อ 1  ชมรมนี้มีชื่อว่า : ชมรมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตจังหวัดพิษณุโลก

ย่อว่า : ชบจ.พล.

เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า : ASSOCIATION  FOR  THE  MENTALLY  ILL. OF  PITSANULOKE

ย่อว่า : AMI.PL.

ข้อ 2  เครื่องหมายของชมรม

มีลักษณะเป็นรูป  วงกลม ลายด้านในเป็นรูปคนพิการนั่งรถวิลแชร์อยู่กลางหัวใจที่แตกออกจากกัน  และมีเส้นลายกราฟฟิกลากผ่าน   มีความหมายว่า   

คนพิการที่อยู่ในรูปหัวใจ หมายถึง คนพิการที่มีความบกพร่องทางจิต

เส้นลายกราฟฟิก         หมายถึง ความสามัคคี  กลมเกลียว  ร่วมมือร่วมใจ ของคนในชมรมฯ  และหน่วยงานภาคี เครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

สีชมพู                        หมายถึง ความรัก  ความอบอุ่น ความเมตตา  ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ข้อ 3  สำนักงานของชมรมฯตั้งอยู่    191/15 อาคารเพื่อผู้พิการอำเภอบางระกำ ( กศน. ) ม.7    ถนน  พิษณุโลก – กำแพง   ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ  จังหวัดพิษณุโลก  65140

ข้อ 4   วัตถุประสงค์ของชมรม เพื่อ

         4.1   ให้การปรึกษาและช่วยเหลือผู้บกพร่องทางจิต  และครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตอิสระอยู่ในสังคมได้

         4.2   พิทักษ์สิทธิในด้านต่างๆของผู้บกพร่องทางจิต  และครอบครัว

         4.3   รณรงค์ให้ครอบครัว  ชุมชน  และสังคมมีความรู้  ความเข้าใจ  มีเจตคติเชิงสร้างสรรค์  และยอมรับผู้บกพร่องทางจิต

         4.     ประสานความร่วมมือกับหน่ายงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆของผู้บกพร่องทางจิต

         5.     ส่งเสริมการวิจัยเพื่อป้องกัน  รักษา  และฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์  ทางการศึกษา  ทางสังคม  และทางอาชีพแก่ผู้บกพร่องทางจิต

         6.     ส่งเสริมค่านิยม  และวัฒนธรรมอันดีในมวลหมู่สมาชิก  และสังคม

         7.     ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางจิต  กลุ่มเสี่ยงและคนพิการทุกประเภทให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม

 

หมวดที่ 2

สมาชิก

 

ข้อ  5  สมาชิกของชมรมมี 2 ประเภท  คือ

         5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลทั่วไปที่สนใจ ผู้ป่วย  ผู้พิการทางจิต   ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย และผู้พิการทางจิต

         5.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่ชมรม  ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของชมรม

ข้อ 6 สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

         6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

         6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

         6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

         6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ  หรือต้องโทษจำคุก  ยกเว้นความผิดฐานประมาท  หรือลหุโทษ  การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด  ในกรณีกังกล่าว  จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของชมรมเท่านั้น

ข้อ 7 ค่าลงทะเบียน  และค่าบำรุงสมาคม

         7.1  สมาชิกสามัญ  จะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก..............-............. บาท

         ค่าบำรุงสมาคมเป็นรายเดือนๆ...................-.............บาท

         หรือค่าบำรุงเป็นรายปีๆละ.........................-.............บาท

         7.2  สมาชิกกิตติมศักดิ์  มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงชมรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อ  8  การสมัครเข้าเป็นสมัครสมาชิกของชมรม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของชมรมยื่นใบสมัครตามแบบชมรมต่อเลขานุการ  โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของชมรม  เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อสมาชิกอื่นๆของชมรมจะได้คัดเลือก  การสมัครนั้น  เมื่อครบกำหนดประกาศแล้ว  ก็ให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก

(ถ้ามี)  เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของชมรมและเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครและผลเป็นประการใด ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ  9  ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก  ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียน  และค่าบำรุงชมรมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเลขานุการ  และสมาชิกภาพของผู้สมัคร  ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน  และค่าบำรุงชมรมเป็นที่เรียนร้อยแล้ว  แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลงทะเบียนแลค่าบำรุงรักษาภายในกำหนด  ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10 สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์  ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของชมรม  ได้มาถึงยังชมรม

ข้อ 11 สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

         1. ตาย

         2. ลาออก  โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ  และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติและสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับชมรมเป็นที่เรียบร้อย

         3. ขาดคุณสมบัติสมาชิก

         4. ที่ประชุมของสมาชิกหรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้ลบชื่อออกจากทะเบียน  เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤติตัวนำความเสื่อมเสียมาสู่ชมรม  

ข้อ 12 สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

         1. มีสิทธิเข้าใช้สถานที่ของชมรม  โดยเท่าเทียมกัน

         2. มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของชมรม ต่อคณะกรรมการ 

         3. มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น

         4. มีสิทธิเข้าร่วมประชุมของชมรม

         5. สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง  หรือได้รับการเลือกตั้ง  หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการชมรม  และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุม  ได้คนละ 1 คะแนนเสียง 

         6. มีสิทธิร้องขอต่อกรรมการ  เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของชมรม

         7. มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด  หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน  ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

         8. มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ  และข้อบังคับของชมรมโดยเคร่งครัด

         9. มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของชมรม

        10. มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชมรม 

        11. มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่ชมรมได้จัดให้มีขึ้น

        12. มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของชมรมมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย 

 

หมวดที่ 3

การดำเนินกิจการชมรม 

 

ข้อ 13 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง  ทำหน้าที่บริหารกิจการของชมรม  มีจำนวนอย่างน้อย 8 คน  อย่างมากไม่เกิน 15 คน  คณะกรรมการนี้  ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของชมรม  และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่  เลือกตั้งกันเองเป็นประธานชมรม 1 คน  และรองประธาน 1 คน สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้ประธานเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่างๆของชมรม ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการชมรม  มีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปดังต่อไปนี้

         13.1 ประธานชมรม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของชมรม   และเป็นผู้แทนชมรมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของชมรม

         13.2 รองประธาน  ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานชมรมในการบริหารกิจการของชมรมปฏิบัติตามหน้าที่ที่ประธานชมรม  ได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนประธานชมรม  เมื่อประธานชมรมไม่อยู่  หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  แต่การทำหน้าที่แทนประธานชมรม  ให้รองประธานตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

         13.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของชมรมทั้งหมด   เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของชมรมในการปฏิบัติกิจการของชมรมและปฏิบัติตามคำสั่งของประธานชมรม   ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆของชมรม

         13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของชมรม  เป็นผู้จัดทำบัญชี  รายรับ  รายจ่าย  บัญชีงบดุลของชมรม  และเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ ของชมรมไว้เพื่อตรวจสอบ

         13.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของชมรม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของชมรม  และจัดเตรียมที่ประชุมต่างๆ ของชมรม

         13.6 นายทะเบียน  มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของชมรม  และประสานงานกับเหรัญญิก  ในการเรียกเก็บค่าบำรุงชมรมจากสมาชิก ( ถ้ามี )

         13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของชมรม ให้สมาชิก และบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

         13.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม  ซึ่งคณะกรรมการเห็นควรกำหนดให้มีขึ้น  โดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคระกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง

คณะกรรมการชุดแรก  ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งชมรมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยประธานชมรมและกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของชมรม

ข้อ 14 คณะกรรมการของชมรมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี  และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว  แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ  ก็ให้คณะกรรมการ ที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน  จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากราชการ  และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ

ข้อ 15 ตำแหน่งกรรมการชมรม  ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการ มีการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น  ผู้ดำรงตำแหน่งแทนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 16 กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่งซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้คือ

         1. ตาย

         2. ลาออก

         3. ขาดจากสมาชิกภาพ

         4. ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17 กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการ  ให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการและให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

         18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ  โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

         18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของชมรม

         18.3 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง

         18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี  และประชุมใหญ่วิสามัญ

         18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ  ที่ยังมิได้กำหนดไว้  ในข้อบังคับนี้

         18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของชมรม  เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

         18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมดรวมทั้งการเงิน  และทรัพย์สินทั้งหมดของชมรม

         18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญตามที่สมาชิกสามัญ  จำนวน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

         18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ  ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน  ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ  ของชมรมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ  และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

         18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ  ของชมรม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ

         18.11 มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 19 คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อย  ปีละ 1 ครั้ง โดยให้จัดขึ้นภายใน  วันที่.................ของทุกเดือน(ตามความเหมาะสม)  ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของชมรม

ข้อ 20 การประชุมคณะกรรมการจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด  จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  มติของที่ประชุมคณะกรรมการ  ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานชมรมและรองประธานชมรมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการเข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่ เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

  

หมวดที่ 4

การประชุมใหญ่

 

ข้อ 22 การประชุมใหญ่ของชมรมมี 2 ชนิด คือ

         22.1 ประชุมใหญ่สามัญ

         22.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23 คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆละ 1 ครั้ง ภายในเดือนธันวาคม ของทุกๆปี หรือตามมติของคณะกรรมการ

ข้อ 24 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้น หรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ครึ่งหนึ่ง ของสมาชิกทั้งหมด ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 25 การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบและการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร  โดยระบุ วัน เวลาและสถานที่ให้ชัดเจน  โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของชมรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่

ข้อ 26 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

         26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

         26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมา ให้สมาชิกรับทราบ

         26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่

         26.4 เรื่องอื่นๆถ้ามี

ข้อ 27 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของชมรมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรกสำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุม ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 28 การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 29 ในการประชุมใหญ่ของชมรม ถ้าประธานชมรม และรองประธานชมรมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่งให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

 

หมวดที่ 5

การเงินและทรัพย์สิน

 

ข้อ 30 การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสด ของชมรมถ้ามีให้นำมาไว้ที่ธนาคาร ออมสิน สาขา บางระกำ

ข้อ 31 ให้ประธานชมรมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของชมรมได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่ายเกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ชมรม

ข้อ 32 ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของชมรมได้ไม่เกิน 5,000 บาท(ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของชมรมทันทีที่โอกาสอำนวย

ข้อ 33 เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย ให้ถูกต้อง การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของประธานชมรมหรือผู้ทำการแทน ร่วมกับเหรัญญิกหรือผู้ทำการแทน 

 

หมวดที่ 6

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับการเลิกชมรม

 

ข้อ 34 ข้อบังคับชมรมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 35 การเลิกชมรมจะเลิกได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของชมรม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่เลิกชมรมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 36 เมื่อชมรมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆก็ตาม ทรัพย์สินของชมรมที่เหลืออยู่  หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของโรงพยาบาลบางระกำ  หรือหน่วยงานที่คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันที่จะยกให้  โดยผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์

 

หมวดที่ 7

บทเฉพาะกาล

 

ข้อ 37 ข้อบังคับฉบับนี้ ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่  ชมรมได้ประกาศให้สมาชิกได้รับทราบ  ในวันประชุมใหญ่ของชมรม

 

 

 

ประกาศใช้  ณ วันที่  9  มีนาคม  2556

 

ลงชื่อ........................................................ผู้จัดทำ

                ( นางนุชจารี  สว่างวรรณ )

                    ประธานชมรมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต  จังหวัดพิษณุโลก