• phone

    Call Center

    091-3853234

  • email

    E-mail

    socials

กินยาจิตเวชอยู่จะตั้งครรภ์ได้ไหมคะ?

กินยาจิตเวชอยู่จะตั้งครรภ์ได้ไหมคะ?

โรคทางจิตเวชหลายโรคมีการดำเนินโรคที่ค่อนข้างยาวนาน หรืออาจเป็นๆหายๆ การกินยาอย่างต่อเนื่องนอกจากช่วยรักษาโรคแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันไม่ให้โรคทางจิตกำเริบ แต่กับคนไข้ผู้หญิงหลายท่านที่มีครอบครัว เมื่อแต่งงานแล้วก็มักอยากจะมีบุตรทั้งจากตัวคนไข้ สามี หรือคนรอบข้าง (ยิ่งเมื่อวัยย่างเข้าเลข3 ก็ยิ่้งร้อนใจ) จึงมักมีคำถามกับจิตแพทย์ถามบ่อย เช่น
1. ยาที่กินอยู่ จะเป็นอันตรายสำหรับลูกในครรภ์ไหม?
2. ช่วงตั้งครรภ์จะต้องงดยาไหม?
3. จะตั้งครรภ์ได้ไหม โรคจะกำเริบไหม?

หมอขอตอบคำถามไปทีละประเด็นครับ

1. ยาจิตเวชที่กินอยู่ จะเป็นอันตรายสำหรับลูกในครรภ์ไหม?
>>>ตอบ : ยาทุกตัวมีผลต่อลูกในครรภ์มากน้อยแตกต่างกันไป ทางด้านเภสัชศาตร์แบ่งกลุ่มยาตามข้อมูลความปลอดภัยเป็น 5 กลุ่ม จาก A B C D และ X

A หมายถึง ยาที่ไม่พบว่ามีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เลย จากการศึกษาทดลองแบบควบคุมในมนุษย์

B หมายถึง ยาที่ไม่พบความเสี่ยงต่อตัวอ่อนจากการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีการศึกษาแบบควบคุมในมนุษย์

C หมายถึง ยาที่พบว่ามีผลเสียต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในมนุษย์

D หมายถึง ยาที่มีหลักฐานว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการในครรภ์ แต่ผลดีจากการใช้ยามีมากกว่าความเสี่ยงนั้น เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อความปลอดภัยของมารดา

X หมายถึง ยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการในทารก และความเสี่ยงนั้น มีมากกว่าผลดีจากการใช้ยา จึงเป็นกลุ่มยาที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาดขณะตั้งครรภ์

>>ซึ่งยาจิตเวชส่วนใหญ่ จะอยู่ในกลุ่ม C ครับ คือถ้าจำเป็น (ถ้าไม่ให้จะทำให้อาการทางจิตกำเริบ หรืออาการทางจิตยังไม่สู้ดีนัก) ก็สามารถให้ได้ แต่ถ้าไม่จำเป็นหรือหากอาการทางจิตสงบดีเป็นระยะเวลาพอควรแล้ว ก็ควรจะหยุดไปก่อนที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์ครับ

*นอกจากนั้น ยังมียาส่วนหนึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม D ซึ่งถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่ควรให้ เช่น Paroxetine/Lithium/Deparkine 

* มียาส่วนน้อยมากๆที่จัดอยู่ในกลุ่ม B (ปลอดภัยค่อนข้างมาก) ได้แก่ ยาClozapine

2. สมมติว่าเราเองไม่ได้วางแผนมาก่อน แต่(ดัน)ท้องขึ้นมา เราจะต้องงดยาจิตเวชไหม?
>>ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วงที่มีความเสี่ยง(ต่อทารก)ทีสุด คือ ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะเป็นระยะที่อวัยวะต่างๆของลูกกำลังก่อตัว พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 2และ3 ความเสี่ยงเหล่านี้ก็จะลดลงไป ฉะนั้นตามหลักการแล้ว จะให้ดีที่สุด ก็คือ มารดาไม่ควรกินยาอะไรเลยนอกจากยาบำรุงในช่วง 3 เดือนแรก แต่ถ้าหากขาดยาแล้วอาการ/โรคทางจิตของแม่จะกำเริบและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของแม่ แพทย์ก็จะต้องชั่งRisk vs Benefit ให้ดี และจะต้องเลือกยาที่ปลอดภัย/มีผลต่อลูกในครรภ์น้อยที่สุดครับ อย่างที่ตอบไว้ในข้อ1 ยาส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่ม C แปลว่า ไม่ถึงกับไม่ปลอดภัยกับลูกในครรภ์ แต่ก็เป็นเพียง "โอกาส" ที่จะมีความผิดปกติ เป็นตัวเลขของความน่าจะเป็น (เช่น 1 ใน 500) ดังนั้น กรณีท่านที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์แต่กำลังวางแผนอยู่ การรอเวลาให้อาการทางจิตดีเป็นระยะที่นานพอ เพื่อจะได้หยุดยาในช่วงตั้งครรภ์ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดกว่าครับ ทั้งนี้ทั้งนั้น แพทย์ประจำตัวของท่านจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดว่าจะอนุญาตให้ตั้งครรภ์ได้หรือไม่ "ไม่ควรหยุดยาเอง" ครับ

3.ไม่สบายทางจิตเวชจะตั้งครรภ์ได้ไหม โรคจะกำเริบไหม?
>>จะต้องให้ข้อมูลก่อนว่า การตั้งครรภ์ถือเป็นความเครียดอันดับต้นๆของผู้หญิงเลยก็ว่าได้ เพราะจะต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เมื่อเป็นความเครียด ก็ย่อมมีความสัมพันธ์กับการกำเริบของโรคทางจิตเวชได้
ช่วงที่เสี่ยงที่สุด ไม่ใช่ช่วงที่กำลังอุ้มท้องแต่เป็นช่วงหลังคลอด ประมาณ 6 เดือนแรก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยหญิงที่ได้รับการหยุดยาไปในช่วงอุ้มท้อง หากมีความเสี่ยงที่โรคทางจิตเวชจะกำเริบ เมื่อคลอดลูกแล้ว แพทย์มักคะยั้นคะยอให้แม่รีบกลับมากินยาจิตเวชต่อให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการทางจิตกลับมากำเริบซ้ำ ส่วนการให้นมบุตรก็ควรจะเป็นนมชงแทน เพราะยาจิตเวชส่วนใหญ่สามารถออกมาพร้อมน้ำนมได้

สรุป : หลักการใช้ยาจิตเวชในสตรีตั้งครรภ์
1. (หากเป็นไปได้) หลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิดในช่วง 3เดือนแรกของการตั้งครรภ์
2. (ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา) ควรใช้ยาขนาดต่ำที่สุดที่ยังคงประสิทธิภาพรักษา/ป้องกันอาการทางจิตของมารดา
3. ช่วงเวลาที่สำคัญ
3.1 ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คือ ระยะสร้างอวัยวะของลูกในครรภ์ ควรงดยาที่มีความเสี่ยง (กลุ่ม C และ D)
3.2 ช่วงหลังคลอด เป็นระยะที่อาการทางจิตจะกำเริบได้มากที่สุด
.
.
.
By...คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา